ในยุคปัจจุบันที่เข้าสู่สังคมดิจิทัล ทำให้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของเรา และในช่วงโควิดทำให้อุปกรณ์สื่อสารยิ่งเข้ามามีบทบาทในการเรียนออนไลน์ หรือ Work From Home มากยิ่งขึ้น

ในข้อดีก็มีข้อเสีย ความสะดวกสบายที่เกิดขึ้นนั้นกลับต้องแลกมาด้วยสุขภาพที่เสียไป ด้วย “แสงสีฟ้าจากโทรศัพท์” และอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เข้ามาทำร้ายดวงตา และสุขภาพผิวนั่นเอง

แสงสีฟ้า (Blue Light) คืออะไร

แสงสีฟ้า (ฺBlue Light) คือ หนึ่งในความยาวคลื่นที่ประกอบเป็นแสงสีขาวที่เรามองเห็นกันเป็นปกติ ที่ประกอบด้วยทั้งหมด 7 สี ได้แก่ สีม่วง สีคราม สีน้ำเงิน สีเขียว สีเหลือง สีแสด สีแดง ซึ่งแสงสีฟ้าหรือแสงสีน้ำเงินนี้เป็นคลื่นแสงพลังงานสูง ในช่วงคลื่นความยาว 400 - 500 นาโนเมตรที่อยู่ในช่วงระหว่างสีคราม และสีน้ำเงิน 

อันตรายจากแสงสีฟ้าจึงเทียบเคียงกับรังสีอัลตราไวโอเลต หรือ รังสี UV (Ultraviolet Rays) ที่มีทั้งรังสี UVA และ UVB ที่คลื่นความยาวแสง 290 - 400 นาโนเมตร

แสงสีฟ้า (ฺBlue Light) หรือชื่อเต็ม ๆ ที่เรียกว่า High Energy Visible Light เป็นแสงคลื่นความยาวสูงที่อยู่รอบ ๆ ตัวของเราทั้งจากธรรมชาติ และอุปกรณ์การใช้งานในชีวิตประจำวัน ทำให้ไม่ว่าอย่างไรเราก็หลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่เผชิญเข้ากับแสงสีฟ้า เพราะไม่ใช่แค่จากแสงแดดในบริเวณนอกอาคารเท่านั้น แต่อุปกรณ์ภายในอาคารต่าง ๆ ก็มีแสงสีฟ้าส่องออกมาทำร้ายผิวและสายตาด้วยเช่นกัน

แล้วเราจะเจอแสงสีฟ้าได้จากที่ไหนบ้าง? ได้แก่

  • แสงสีฟ้าจากโทรศัพท์
     
  • แสงสีฟ้าจากคอมพิวเตอร์
     
  • แสงสีฟ้าจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์
     
  • แสงสีฟ้าจากแสงแดด
Blue light คือ

อันตรายจากแสงสีฟ้า มีอะไรบ้าง 

“แสงสีฟ้าอันตราย” ทำไมถึงเกิดคำพูดนี้ขึ้นมาได้? แสงสีฟ้าที่อยู่รอบตัวของเรามันอันตรายขนาดนั้นเลยหรือ? คำตอบก็คือ ใช่เลย อันตรายจากแสงสีฟ้ามีมากมาย และอาจจะน่ากลัวกว่าที่คิด เพราะแสงสีฟ้ามีพลังงานค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับแสงในคลื่นความยาวอื่น ๆ แสงชนิดนี้จะสามารถทะลุอวัยวะอย่างดวงตา และผิวพรรณเข้าไปทำร้ายอวัยวะ

รวมถึงแสงสีฟ้าโทรศัพท์นั้นจะเข้าไปเปลี่ยนนาฬิกาการใช้ชีวิต (Circadian Rhythm) ของคนเรา เมื่อได้รับแสงสีฟ้าในตอนกลางคืนจะรบกวนทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ ตื่นลำบาก การหลั่งฮอร์โมนของร่างกายก็จะเปลี่ยนแปลงไป จึงรู้สึกไม่กระปรี้กระเปร่า ร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอ

อันตรายจากแสงสีฟ้าทำให้จอประสาทตาเสื่อม

ด้วยความรุนแรงของแสงสีฟ้าที่สามารถทะลุทะลวงอวัยวะต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะดวงตาที่เป็นอวัยวะที่ต้องเผชิญกับแสงสีฟ้าในโทรศัพท์ตลอดอยู่ตลอดเวลา ทำให้แสงสีฟ้าจากโทรศัพท์เข้าไปทำร้ายตั้งแต่กระจกตา เลนส์ตา รวมไปจนถึงจอตาที่อยู่ในส่วนลึกเข้าไป

  • ตาแห้ง เนื่องจากการทำงานผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ เราจะเผลอเพ่งไปที่หน้าจอตลอดทำให้กระพริบตาน้อยลงจากปกติใน 1 นาที มนุษย์เราจะกระพริบตาประมาณ 10 -15 ครั้ง ทำให้น้ำตาเคลือบผิวตาระเหยออกไปได้ ส่งผลให้ตาแห้ง จนเกิดอาการตาแดง เยื่อตาอักเสบ กระจกตาเป็นแผลถลอก
     
  • ตาล้า หนึ่งในอาการของ Computer Vision Syndrome (CVS) อาการไม่สบายตาเมื่อติดจอคอม เนื่องจากคลื่นแสงพลังงานสูง ทำลายเซลล์ดวงตา และการกระพริบของหน้าจอ ทำให้กล้ามเนื้อดวงตาพยายามเพ่งสายตาอย่างมาก เพื่อปรับโฟกัสให้เห็นภาพชัดเจน ดวงตาจึงทำงานหนัก ดวงตาจึงเกิดอาการล้า
     
  • จอประสาทตาเสื่อม แสงสีฟ้าจากโทรศัพท์กระตุ้นทำให้เกิดการสะสมของอนุมูลอิสระ (Oxidant) และเกิดเป็นเซลล์กลุ่มก้อนสีเหลืองไลโปฟัสซิน (Lipofuscin) สัญลักษณ์ของความชรา เข้ามาทำลายเซลล์รับภาพจอประสาทตา ทำให้การมองเห็นส่วนกลางแย่ลงได้
อันตรายจากแสงสีฟ้า

แสงสีฟ้าทำให้หน้าหมองคล้ำ 

แสงสีฟ้าในโทรศัพท์ แสงสีฟ้าจากจอคอม เป็นแสงที่มีความเข้มข้นสูง เป็นแสงที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา ทำให้สัมผัสโดนกับผิวพรรณภายนอกของเราได้โดยตรง และยาวนานมาก ทำให้แสงสีฟ้าเข้าไปทำลายคอลลาเจน (Collagen) และอีลาสติน (Elastin) ในชั้นโครงสร้างผิว 

ทำให้เซลล์ผิวเสื่อมสภาพ ผิวหย่อนคล้อย และเข้าไปกระตุ้นการเกิดเม็ดสีเมลานิน (Melanin) ทำให้ผิวเกิดเป็นฝ้ากระจุดด่างดำฝังลึก ทำให้ใบหน้าไม่กระจ่างใส แลดูเหนื่อยล้า และทำให้ร่างกายกระตุ้นต่อมไขมันใต้ผิวหนังผลิตน้ำมันออกมาจนใบหน้ามันรู้สึกเหนียวเหนอะหนะ

ปัญหาผิวจากอันตรายจากแสงสีฟ้า ได้แก่

แสงสีฟ้าอันตราย

ป้องกันแสงสีฟ้าอย่างไรดี 

แสงสีฟ้าอันตรายหลากหลายอย่างที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพสายตา และสุขภาพผิว แม้จะไม่ได้อันตรายถึงชีวิต แต่ก็ทำให้สุขภาพสายตาเราเสีย และส่งผลให้เราเสียความมั่นใจจากปัญหาผิวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ ทำให้เราจะต้องหาวิธีป้องกันตัวจากแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์อุปกรณ์เล็ก ๆ ที่ปลีกตัวออกห่างได้ยากในยุคปัจจุบัน

 

ป้องกันดวงตาจากแสงสีฟ้า 

ดวงตาเป็นอวัยวะที่สำคัญ และยังเป็นอวัยวะที่ต้องสัมผัสกับแสงสีฟ้าอยู่ตลอด เพื่อถนอมดวงตาให้อยู่กับเราไปได้นานที่สุด เราควรจะดูแลดวงตาตามวิธีดูแลดวงตา ดังต่อไปนี้

  • ระหว่างที่ใช้สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์ ให้พักการใช้สายตาบ้างตามหลัก 20 - 20 -20 คือ ทุก ๆ 20 นาที ต้องพักสายตาอย่างน้อย 20 วินาที โดยมองไปไกล ๆ อย่างน้อย 20 ฟุต ก็สามารถช่วยลดการเพ่งของดวงตาได้
     
  • ปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสม ปรับหน้าจอให้ห่างจากตาอย่างน้อย 25 นิ้ว ปรับแสงสว่างภายในห้อง และหน้าจอให้เหมาะสม พร้อมหลีกเลี่ยงการใช้สายตาในพื้นที่ที่ลมพัดแรง ยิ่งทำให้ตาแห้ง
     
  • ติดฟิล์มลดแสง หรือฟิล์มกรองแสงที่หน้าจอให้เหมาะสม
     
  • ใช้น้ำตาเทียมหยอดตาเป็นช่วง ๆ หรือในช่วงที่รู้สึกตาแห้ง
     
  • ควรตรวจสุขภาพดวงตาและวัดค่าสายตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

 

ป้องกันผิวจากแสงสีฟ้า

ครีมกันแดด

ผิวพรรณบริเวณที่หากเกิดปัญหาอะไรขึ้น ก็จะส่งผลเสียให้เห็นได้ชัดที่สุด เพราะอยู่บริเวณภายนอกของร่างกายทำให้สัมผัสกับแสงสีฟ้าอยู่ตลอดเวลา เป็นสาเหตุที่ทำใบหน้าแก่ ดูเหี่ยวย่น มีริ้วรอย ทำให้ผิวหน้าคล้ำ หน้าฝ้า กระ จุดด่างดำ เพราะฉะนั้นจึงควรทำวิธีต่าง ๆ เหล่านี้เข้ามาใช้ดูแลผิวพรรณ

  • ทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF ตั้งแต่ 15 - 50 ขึ้นไป รวมถึงมีค่า PA ที่สูง ทุก ๆ 2 ชั่วโมง เพื่อช่ววยลดการที่แสงสีฟ้าจะสัมผัสกับผิวโดยตรง
     
  • เลือกใช้ผลิตภัณฑ์เซรั่ม ครีมบำรุงผิว ที่มีส่วนผสมให้ผิวกระจ่างใส กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน เช่น วิตามินซี (Vitamin C)  วิตามินเอ (Vitamin A) เป็นต้น
     
  • เข้ารับการทำหัตถการทรีทเมนต์กับแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญ อย่างการเลเซอร์ หรือใช้กรดในการผลัดเซลล์ผิวหน้า เพื่อกระตุ้นการเกิดคอลลาเจน ลดความหมองคล้ำ
     
  • ลดเวลาการใช้อุปกรณ์ที่ก่อแสงสีฟ้าลงไป โดยอาจจะหากิจกรรมยามว่างอื่น ๆ เช่น อ่านหนังสือ เล่นกีฬา เป็นต้น นอกจากลดการสัมผัสกับแสงแล้ว ยังช่วยลดความเครียดอีกด้วย

แน่นอนว่าครีมกันแดดเป็นอีกตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันผิวจากทั้งแสงแดด และแสงสีฟ้าจากโทรศัพท์ แม้ในวันที่ไม่ออกจากบ้าน เพราะรังสี UV จากแสงแดดสามารถทะลุหน้าต่างอาคารเข้ามาภายในอาคารได้ นอกจากนี้ยังมีแสงสีฟ้าจากหลอดไฟ และหน้าจออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

แสงสีฟ้าจากเลเซอร์

การฉายแสง LED (Light - Emitting Diode) คือ เทคโนโลยีหนึ่งในการช่วยดูแลผิวพรรณ โดยใช้แสงที่มีความเข้มข้นสูงยิงลงไปที่ผิว ทำปฏิกิริยากับเซลล์ผิว กระตุ้นและฟื้นฟูเซลล์ผิว ในส่วนระดับแสงสีฟ้า (Blue Light) เป็นแสงที่มีคลื่นความยาว 470 นาโนเมตร มีคุณสมบัติในการช่วยฆ่าเชื้อสิว P.Acnes และช่วยการลดการอักเสบของผิว ทำให้สามารถลดแนวโน้มการเกิดสิวชนิดต่าง ๆ นั้นได้เอง

แสงสีฟ้าจากเลเซอร์

สรุป

ในยุคปัจจุบัน แสงสีฟ้าจากโทรศัพท์ จากคอมพิวเตอร์ จากหลอดไฟ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงปัจจัยธรรมชาติอย่างแสงแดด ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพสายตา และทำร้ายผิวของเรา แม้จะไม่ได้ส่งผลเสียถึงขั้นเสียชีวิต แต่ถ้าหากเราใส่ใจดูแลสายตา และผิว พร้อมลดเวลาที่อยู่กับอุปกรณ์ไฟฟ้าเหล่านี้ให้น้อยลง และหันไปทำกิจกรรมอย่างอื่น จะช่วยลดผลร้ายจากแสงสีฟ้าลงไปได้ และลดความเครียด ทำสุขภาพจิตของเราให้กลับมาสดใสมากขึ้น