การระคายเคืองและการแพ้บนผิวหนังเป็นปัญหาที่ก่อความรำคาญและความวิตกกังวลอย่างมากต่อผู้ที่มีอาการ ดังนั้นการทำความเข้าใจโรคเหล่านี้ให้ดีขึ้นจะช่วยให้เราสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยง และรักษาอาการหรือโรคดังกล่าวได้ถูก

การระคายเคืองและการแพ้บนผิวหนังเป็นปัญหาที่ก่อความรำคาญและความวิตกกังวลอย่างมากต่อผู้ที่มีอาการ ดังนั้นการทำความเข้าใจโรคเหล่านี้ให้ดีขึ้นจะช่วยให้เราสามารถป้องกัน หลีกเลี่ยง และรักษาอาการหรือโรคดังกล่าวได้ถูกต้อง รวมถึงช่วยเสริมความมั่นใจและบุคลิกภาพให้ดีขึ้นด้วยค่ะ

การระคายเคืองและการแพ้นั้น คือกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบบนผิวหนัง โดยขออธิบายให้เข้าใจเพิ่มเติมดังนี้

 

1. การระคายเคืองบนผิวหนัง

คือ กระบวนการอักเสบจากอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ 70% พบได้ในผู้ป่วยกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการสัมผัส (contact dermatitis) โดยจะมีอาการผิวร้อนแดง บวม ผิวแห้งแตก ผิวหนังลอก คันและปวด ซึ่งเป็นการตอบสนองโดยกระบวนการทางชีวเคมี ระบบประสาท หลอดเลือดและเซลล์ต่างๆ อันซับซ้อนในร่างกาย กล่าวอีกทางหนึ่ง คือ เป็น ปฏิกิริยาการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากภูมิคุ้มกันร่างกาย

 

ลักษณะของอาการ

  • ผิวร้อนแดง บวม ผิวแห้งแตก ผิวลอก คัน หรือ ปวด
  • เกิดขึ้นเร็วหลังมีการกระตุ้น
  • หายได้เองในช่วง 2-3 วัน
  • บางครั้งอาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นผิวหนังถูกทำลายเกิดความเจ็บปวด
  • อาจค่อยๆมีอาการหลังสัมผัสสารนั้นบ่อยๆอยู่เป็นประจำ
  •  

การเกิดอาการระคายบนผิวหนังโดยทั่วไปมี 2 กลไก คือ

1.1 ก่อความเสียหายในชั้นสตราตัมคอร์เนียม (stratum corneum) หรือชั้นหนังกำพร้า และ

1.2 ก่อความระคายเคืองโดยตรงต่อเซลล์ผิวหนัง ซึ่งทั้ง 2 กลไกทำให้ผิวหนังสูญเสียไขมัน (delipidation) และโปรตีนเสียสภาพ (protein denuturation) ควรทราบว่า การใช้สารลดแรงตึงผิวบางชนิดสามารถละลายไขมันและรบกวนกระบวนการปกป้องผิว ทำให้ผิวเกิดการอักเสบ ระคายเคืองได้

 

2. การแพ้บนผิวหนัง 

คือ ภาวะที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายมีปฏิกิริยากับโปรตีนหรือสารก่อภูมิแพ้ (allergen) ที่มาจากสิ่งแวดล้อม หรือจากผลิตภัณฑ์ที่ใช้บนผิวหนัง นอกจากนี้ยังอาจเกิดมาจากกรรมพันธุ์หรือที่เราเรียกว่า ผื่นอะโทรปิค ( Atopic dermatitis) โดยเกิดมากในเด็กถึงร้อยละ 10-20 ส่วนในผู้ใหญ่เกิดได้น้อยลง คือร้อยละ 2-5 ของประชากรผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กเล็กจะเกิดได้มาก โดยพบว่า 90% ของเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี มีปัญหาผื่นแพ้ผิวหนัง ในขณะที่ 80% พบได้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี ในเด็กเล็กผื่นจะพบมากที่บริเวณใบหน้า ซึ่งมักมีผื่นที่หนังศรีษะ หน้าผาก รอบดวงตา หลังหู แก้ม และขยายไปที่ลำตัวเมื่อเด็กโตขึ้น

 

ลักษณะของอาการ

  • เป็นผื่นแดง ตุ่มน้ำ คัน
  • มีอาการคันมากผู้ป่วยจะเกาจนผิวหนังถูกทำลายจนอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
  • ถ้าเป็นผื่นแพ้กรรมพันธุ์ในผู้ใหญ่ผิวจะหนาและกระด้างขึ้น สีผิวเข้มขึ้น ในเด็กมักเป็นตามแผ่นหลัง แก้ม ช่วงแขน และเกิดขึ้นพร้อมกันสองข้างของร่างกาย

สาเหตุหลักของการเกิดผื่นแพ้ผิวหนัง เช่น สัมผัสกับสารที่กระตุ้นทำให้ผิวหนังเกิดการระคายเคืองหรืออักเสบ การที่ผิวขาดสารที่ให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (NMFs) ชั้นปกป้องผิวอ่อนแอเนื่องมาจากการขาดไขมันที่จำเป็นในผิว เช่น Ceramide และ free fatty acid ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียได้ง่ายขึ้น รวมถึงปัจจัยภายนอกอื่นๆ เช่น สารเคมี มลภาวะ สารระคายเคือง ส่งผลให้ผิวเกิดการอักเสบ และมีอาการคันตามมา

 

การป้องกันอาการระคายเคืองและอาการแพ้ สามารถทำได้ดังนี้

  1. หลีกเลี่ยงสารที่อาจทำให้ผิวเกิดการระคายเคืองต่อผิว เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของน้ำหอม แอลกอฮอล์ การกันเสีย (paraben) เป็นต้น
  2. หลีกเลี่ยงอากาศร้อน เนื่องจากเหงื่อทำให้ผื่นกำเริบและคันได้
  3. หลีกเลี่ยงอาหารและเครื่องดื่มที่อาจทำให้ผื่นกำเริบ
  4. ออกกำลังกาย เพื่อช่วยผ่อนคลายความเครียด
  5. หลีกเลี่ยงการเกา เมื่อมีอาการคันที่ผิว
  6. เลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มชุ่มชื่นให้กับผิว และสามารถปกป้องชั้นผิวหนังให้แข็งแรง เพื่อป้องกันอาการที่อาจเกิดเป็นซ้ำได้ และสำหรับผู้ที่มีปัญหามากจนส่งผลถึงคุณภาพชีวิต นอกจากเรื่องการให้ความชุ่มชื้นเข้มข้นแล้ว ลองพิจารณาคุณสมบัติของผลิตภัณฑ์ที่มีสารออกฤทธิ์ที่ช่วยระงับอาการคันได้อย่างรวดเร็วพร้อมให้ความชุ่มชื้น อย่าง PEA ที่ช่วยระงับการเกาได้ รวมถึงพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆ เช่นสามารถต้านการรุกรานของสารก่อภูมิแพ้ ต้านจุลินทรีย์ หรือลดการอักเสบ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผิวแห้งกร้านรุนแรงขึ้นค่ะ

 

พญ.วิจิตรรัตน์ จำเพียร แพทย์ด้านความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัย

พญ.วิจิตรรัตน์ จำเพียร แพทย์ด้านความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัย