แผลเป็นเกิดจากการที่ผิวหนังได้รับบาดเจ็บ เกิดการฉีกขาดตั้งแต่ชั้นหนังกำพร้า จนถึงชั้นผิวหนังแท้ ร่างกายจะเกิดกระบวนการซ่อมแซมผิวหนัง (WOUND HEALING PROCESS) เป็นกระบวนการสร้างคอลลาเจนบริเวณแผลให้มากขึ้นและมีความแข็งแรงขึ้นตามธรรมชาติ แผลเป็นอาจเกิดได้จาก แผลจากอุบัติเหตุ แผลจากสิวอักเสบ แผลจากหัตถการเลเซอร์ แผลผ่าตัด และจากเหตุการณ์อื่นๆ ในชีวิตประจำวันของเรา

 

แผลเป็นนูน หรือที่เรียกว่า แผลคีลอยด์ (Keloids)

แผลเป็น มีลักษณะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่มองเห็นชัด หายยาก และน่ากังวล คือแผลเป็นนูน หรือที่เรียกว่า แผลคีลอยด์ (Keloids) เป็นแผลเป็นที่มีลักษณะนูนสูงจากผิวหนังจากการสร้างเซลล์คอลลาเจน ขอบเขตแผลมีการขยายกว้าง มากกว่ารอยแผลเดิม ลักษณะสีแผลเป็นจะเข้มกว่าสีผิวปกติ อาจเป็นสีแดง แดงดำ หรือสีจาง ซึ่งในระยะแรกจะมีอาการคันร่วมด้วย เนื่องจากแผลที่มีการฉีกขาดมาก ลึกจนถึงชั้นผิวหนังแท้ เมื่อแผลหายมักจะเกิดแผลเป็นตามมา ความรุนแรงของแผลขึ้นอยู่กับความรุนแรง ความลึกของแผล ตำแหน่งของแผล และการดูแลแผล แผลเป็นชนิดคีลอยด์มักอาจเกิดได้ทุกตำแหน่ง โดยเฉพาะบริเวณที่มีแรงตึงของผิวหนังสูง

 

โรคประจำตัว เชื้อชาติ และพันธุกรรม

นอกจากนี้ โรคประจำตัว เชื้อชาติ และพันธุกรรม ก็นับเป็นปัจจัยในการเกิดแผลเป็นชนิดคีลอยด์ได้เช่นกัน รวมถึงในผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหลอดเลือดตีบอุดตัน ผู้ป่วยที่มีภาวะทุพโภชนาการ หรือผู้ที่ดื่มสุรา สูบบุหรี่เป็นประจำ และในผู้ที่ประวัติครอบครัวและประวัติส่วนตัวเป็นแผลเป็นชนิดคีลอยด์ง่าย เมื่อเกิดแผลมีโอกาสเกิดแผลเป็นชนิดคีลอยด์ได้สูง

การดูแลแผลเป็นปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันหรือลดทอนความรุนแรงของแผลเป็นลงได้ ช่วงระยะเวลา 1-2 สัปดาห์หลังเกิดแผล ควรดูแลแผลโดยการปิดแผล และทำแผลเป็นประจำตามที่แพทย์สั่งเพื่อป้องกันการอักเสบติดเชื้อ

 

การดูแลรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา

การดูแลรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เป็นวิธีที่ช่วยในการป้องกันการเกิดแผลเป็น จากการวิจัยพบว่าช่วงเดือนแรกของกระบวนการซ่อมแซมผิวหนัง (Wound Healing Process) การดูแลรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นตลอดเวลาจะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และช่วยลดโอกาสการเกิดแผลเป็นได้ โดยพบว่าแผลที่มีความชุ่มชื้นสูงจะหายเร็วกว่าแผลที่ขาดความชุ่มชื้นถึง 40% เนื่องมาจากแผลที่ชุ่มชื้นส่งผลให้การเคลื่อนตัวของเซลล์ผิวหนัง และ Growth Factor ต่างๆ ที่อยู่รอบแผลในกระบวนการซ่อมแซมผิวหนังทำงานได้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งการดูแลรักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นจะช่วยลดเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ก่อให้เกิดการอักเสบของแผล และเซลล์พังผืดบางชนิด ซึ่งเชื่อว่ามีผลทำให้โอกาสการเกิดแผลเป็นลดน้อยลง

 

หลีกเลี่ยงแสงแดด และการขยับเคลื่อนไหวบริเวณที่เกิดแผล

เมื่อเกิดบาดแผล เราควรหลีกเลี่ยงแสงแดด เนื่องจากผิวบริเวณทีเป็นแผลมีความบอบบางมากเมื่อโดนแสงแดดอาจทำให้มีสีคล้ำชัดเจนขึ้น จึงควรใช้ครีมกันแดดปกป้องผิวก่อนออกแดดทุกครั้ง หรือใช้เทป แผ่นปิดแผลที่นอกจากจะสามารถช่วยหลีกเลี่ยงแสงแดดแล้ว ยังช่วยลดแรงตึงบริเวณแผลได้ เมื่อมีแผลเกิดขึ้นโดยเฉพาะบริเวณที่ต้องเคลื่อนไหวขยับอยู่บ่อยๆ ควรงดออกกำลัง หรือเคลื่อนไหวบริเวณนั้นๆ เนื่องจากการขยับเนื้อเยื่อที่เป็นแผลจะรบกวนกระบวนการซ่อมแซมตนเองของเซลล์ผิวและก่อให้เกิดแผลเป็นได้

 

รักษาแผลให้มีความชุ่มชื้นอยู่เสมอ

อีกหนึ่งตัวช่วยในการป้องกัน และลดโอกาสในการเกิดแผลเป็น คือการใช้ผลิตภัณฑ์จำพวกครีม โลชั่น หรือ มอยส์เจอไรเซอร์ทาแผล ตามลักษณะของแผล โดยเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่พัฒนามาเพื่อการป้องกันการเกิดแผลเป็นโดยเฉพาะ โดยพิจารณาสารประกอบช่วยป้องกันการเกิดแผลเป็น เช่น Natural Silica ช่วยให้แผลแห้งสำหรับแผลที่มีเลือดหรือหนอง Resveratrol, Copper, Centella Asiatica ซึ่งช่วยในการฟื้นฟูสภาพผิว Zinc ช่วยในการป้องกันการเติบโตของแบคทีเรีย ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยน ปลอดภัย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เวชสำอางที่ได้รับการรับรองและแนะนำให้ใช้โดยผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง บางผลิตภัณฑ์ที่มีความอ่อนโยนมากๆสามารถใช้ทาแผลบริเวณสะดือของทารกแรกคลอดได้ โดยนอกจากทำให้แผลแห้งเร็ว ยังช่วยสมานแผล ฟื้นฟูเซลล์ผิวและป้องกันการเกิดแผลเป็น

 

ขอสรุปอีกครั้งว่า เมื่อร่างกายมีแผลเกิดขึ้น ผิวบริเวณแผลนั้นจะบอบบางและระคายเคืองได้ง่าย ควรรักษาและซ่อมแซมฟื้นฟูผิวตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อป้องกันและลดโอกาสในการเกิดแผลเป็นค่ะ

 

พญ. ทิวบุญ ศรีพจนารถ

แพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง